1 ควรเก็บผักตอนเช้า ผักจะกรอบอร่อยและเก็บรักษาไว้ได้นานกว่าผักที่เก็บตอนบ่าย ด้วยตอนเช้าอากาศยังไม่ร้อนอบอ้าว ผักคายน้ำน้อยทำให้รักษาความสดได้นาน โดยเฉพาะผักสลัดหากเก็บช่วงอากาศร้อน ผักจะเครียดและมีรสขม
2 กรณีที่มีผักจํานวนมากและต้องการเก็บไว้นานๆ ถ้าเป็นผักกินใบควรห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์แล้วนําเข้าตู้เย็นทันที ไม่ต้องล้าง เพราะการล้างผักจะทําให้ผักเน่าเร็ว ดังนั้นจึงควรล้างก่อนนําไปรับประทานดีกว่า ยกเว้นว่ามีเศษดินติดอยู่ก็ควรล้างแล้วผึ่งให้แห้งก่อนห่อกระดาษ
3 ควรทราบระยะเวลาเก็บเกี่ยวพืชแต่ละชนิด รวมทั้งสังเกตการเปลี่ยนแปลงของพืชผักที่พร้อมจะเก็บ หากปล่อยให้ผักแก่เกินไปอาจทําให้รสชาติเปลี่ยนแปลงและมีเส้นใยเหนียวมากขึ้น
4 อีกหนึ่งเทคนิควิธีการปลูกพืชผักสวนครัว ควรเก็บผักที่มีรูปทรงบิดงอ หรือผิดปกติทิ้งตั้งแต่ระยะแรก หรือเก็บมากินก่อนเพื่อให้อาหารไปเลี้ยงส่วนที่เหลือให้สมบูรณ์ขึ้น
5 การปลูกผักอินทรีย์บางครั้งจะใช้สารไล่แมลงจากธรรมชาติ ซึ่งสารบางชนิดอาจส่งผลต่อรสชาติผักที่อวบน้ํามากๆ เช่น พริก สะเดา ฟ้าทะลายโจร ฯลฯ ดังนั้นหลังจากฉีดพ่นสารเหล่านี้ควรเว้นระยะสัก 1-2 วัน จึงเก็บผักได้
6 ใช้อุปกรณ์ที่คมและสะอาดทุกครั้งในการตัดผัก เพื่อลดความบอบช้ำของพืชผักจะช่วยให้เก็บรักษาได้นานขึ้น
7 ปูเล่ พืชผักที่ใช้ปลูกประดับสวนได้ด้วย การเก็บปูเล่นั้นเมื่อต้นโตให้ตัดใบล่างที่มีอายุ 2 เดือน มาประกอบอาหารแทนคะน้าได้ หรือหากตัดต้นไปแล้วไม่จําเป็นต้องถอนทิ้งทันที ปูเล่จะมีต้นเล็กๆ งอกขึ้นมาใหม่จากรอยตัดให้เราเด็ดไปชําต่อได้
8 การเก็บพริกควรเด็ดให้ติดก้านออกมาเพื่อไม่ให้อาหารไปเลี้ยงส่วนที่เหลืออยู่ แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้กระเทือนต่อยอดอ่อนและดอกที่ผลิใหม่ หากพริกที่ปลูกมีก้านเหนียวควรใช้กรรไกรตัด
9 ไม่ควรปลูกพืชชนิดเดียวซ้ำๆ ในแปลงเดิม ควรปลูกหมุนเวียนสลับกันไป เพื่อลดการสะสมโรคและแมลงบางชนิดที่เกิดขึ้นกับพืชผักเฉพาะอย่าง
10 หลังจากเก็บเกี่ยว ควรเริ่มหมักดินใหม่เพื่อให้พืชผักที่ปลูกได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนจากดินที่สมบูรณ์ โดยสูตรหมักดินต้องมีส่วนผสมของอินทรีย์วัตถุ ปุ๋ยคอก ให้มีความร่วยซุย ทิ้งไว้ประมาณ 2-4 สัปดาห์ (ขึ้นอยู่กับความสะดวก) จึงค่อยปลูกผักชุดใหม่
11 เลือกตําแหน่งที่จะปลูกผักโดยมีแสงแดดอย่างน้อยครึ่งวัน หรือ 6 ชั่วโมงขึ้นไป ไม่จําเป็นต้องวางแนวแปลงเหนือ-ใต้เสมอไป (แต่ถ้าได้จะดีมาก) หากคุณมีพื้นที่จํากัด เลือกตามความเหมาะสมจะดีกว่า
12 แม้ว่าผักกินใบจะชอบแสงแดดเต็มวันก็จริง แต่หากคุณปลูกในเมืองที่แวดล้อมด้วยพื้นแข็งหรือตึก ซึ่งจะสะสมความร้อนและคายออกมาให้ต้นไม้ได้มาก โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อนด้วยแล้ว จึงควรกางซาแรนพรางแสงเป็นระยะ แต่ระวังอย่าให้ร่มเกินไป และอย่าลืมคลุมพลาสติกในช่วงหน้าฝน ป้องกันไม่ให้ผักได้รับน้ำมาเกินไป
13 ผักบางชนิดเราสามารถหว่านลงแปลงได้โดยไม่ต้องเพาะกล้าให้ยุ่งยาก เช่น ผักบุ้ง ผักกาดหอมคะน้า กวางตุ้ง ผักกาดหัว แต่ผักบางชนิดจําเป็นต้องเพาะกล้าก่อน เช่น พริก มะเขือเทศ ผักกาดขาวปลี และผักสลัดต่างๆ
14 ผักรับประทานผลบางชนิด เช่น มะระ บวบ ถั่วฝักยาว แตงกวา ฟัก แฟง มะเขือ และมะเขือเทศ ควรนําเมล็ดมาแช่น้ำก่อนปลูก โดยใช้น้ำร้อน 1 ส่วน น้ำเย็น 1 ส่วนครึ่ง แช่ไว้ประมาณ 15 นาที หากเป็นเมล็ดที่มีเปลือกแข็ง อย่าง มะระ ให้ตัดเปลือกด้านบนออกนิดหน่อยก่อนแช่น้ำ ส่วนผักที่มียอดเลื้อยอย่าลืมทําค้างให้พืชผักเหล่านี้ด้วย
15 ไม่ว่าภาชนะอะไรก็ใช้ปลูกผักได้ แต่หัวใจสำคัญคือต้องระบายน้ำได้ดี ยิ่งหากมีลักษณะโปร่งมีช่องระบายอากาศได้ด้วยนั้นยิ่งเป็นผลดีต่อพืช อย่างเช่นตะกร้าพลาสติกที่นิยมใช้ปลูกผัก หรือเข่งขนมจีน อย่างที่ได้เห็นทั่วไป
16 หลักปลูกผักแล้ว นําฟางข้าวมาช่วยคลุมแปลงผักเพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้ผิวดิน และเป็นการปรับอุณหภูมิเพื่อเร่งกระบวนการเติบโตให้กล้าผักด้วย
17 แปลงผักที่นี่เป็นดินใหม่ที่ยังไม่มีธาตุอาหารและจุลินทรีย์ในดิน หรือที่เรียกว่า “ดินไม่มีชีวิต” แนะนําให้เริ่มปรุงดินโดยใช้อินทรีย์วัตถุ ปุ๋ยคอก ดิน และจุลินทรีย์ รดน้ำทิ้งไว้ 30 วัน เมื่อวัสดุปลูกย่อยสลายได้ดินปลูกที่ร่วนซุยแล้วจึงนำมาใช้ปลูกผักได้
18 ผักบางชนิดก็มีคู่อริ เมื่อปลูกใกล้กันแล้วจะดึงดูดศัตรูพืชชนิดเดียวกัน ฉะนั้นควรรู้จักและเว้นระยะห่างในการปลูกอย่างน้อย 30 เซนติเมตร
19 ระบบน้ำอัตโนมัติ ถ้ามีได้ก็ดี เพราะปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อผัก โดยเฉพาะผักสลัดคือ อากาศร้อน ในช่วงฤดูร้อนจึงจำเป็นต้องใช้ระบบพ่นหมอกช่วยลดอุณหภูมิในพื้นที่ปลูก รวมถึงเพิ่มการให้น้ำในช่วงกลางวัน หากติดตั้งระบบให้น้ำแบบอัตโนมัติก็จะช่วยดูแลผักได้ดีขึ้น
20 ปลูกไม้ดอกแซมในสวนเพื่อล่อแมลงช่วยผสมเกสร เช่น ผึ้ง ชันโรง ผีเสื้อ แมลงปอ โดยปลูกแยกในตำแหน่งใกล้ๆ กับแปลงพืชผักที่ปลูก แมลงเหล่านี้จะช่วยผสมเกสรให้พืชติดดอกออกผล
21 แปลงปลูกควรสูงจากพื้นดินอย่างน้อย 10-20 เซนติเมตร เพื่อไม่ให้เกิดน้ำขังข้างใต้แปลง หากต้องการทําแปลงบนพื้นคอนกรีตควรสูง 30 เซนติเมตรขึ้นไป เพื่อป้องกันความร้อนและให้ใส่กาบมะพร้าวลงไปก่อนครึ่งหนึ่ง เพื่อใช้เป็นฉนวนกันความร้อนและเก็บความชื้น แต่ถ้าเป็นพื้นดินไม่ควรใช้ เพราะจะทําให้เกิดเชื้อรา
22 วิธีสังเกตดินที่มีโครงสร้างดินดี ทดสอบได้โดยการกำดินให้แน่นแล้วคลายมือออก หากดินร่วนซุยจะไม่จับตัวเป็นก้อนจะคลายตัวออกลักษณะเหมือนขนมคุกกี้โดนขยำ ซึ่งไม่ว่าดินจะอัดแน่นอย่างไรโครงสร้างก็ยังคงความร่วนซุยเหมือนเดิม
23 ปุ๋ยคอกเป็นปุ๋ยที่จำเป็นสำหรับสวนครัว เพราะช่วยปรับคุณภาพของดินให้โปร่ง ระบายน้ำดี ที่สำคัญยังช่วยรักษาความชื้นให้เหมาะแก่การเจริญเติบโตของผักด้วย
24 การปลูกผักในกระถางไม่ควรให้ก้นกระถางวางราบไปกับพื้น อาจจะใช้ขาตั้งหรือจานรองเพื่อระบายอากาศและระบายน้ำ
25 สำหรับเมล็ดผักที่มีขนาดเล็กมาก ควรนำเมล็ดมาผสมกับทรายหยาบ แล้วค่อยโรยลงกระบะเพาะ จะช่วยให้ต้นกล้าไม่เบียดกัน